ธุรกิจโฮมสเตย์ใน “นครนายก” ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่อยากมาสัมผัสธรรมชาติ พักผ่อนแบบเงียบสงบ และเดินทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ถ้าคุณมีบ้านหรือพื้นที่ว่างอยู่แล้ว หรือกำลังมองหาช่องทางลงทุนแบบไม่ต้องเสี่ยงมาก โฮมสเตย์นี่แหละ คือจุดเริ่มต้นที่ดี! บทความนี้จะพาไปดูขั้นตอนง่าย ๆ ในการเริ่มต้นธุรกิจโฮมสเตย์ ตั้งแต่การเตรียมบ้านไปจนถึงการโปรโมตออนไลน์แบบมือสมัครเล่นก็ทำได้ ไม่ต้องมืออาชีพก็เริ่มได้ ขอแค่มีใจและใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ ก็มีสิทธิ์ประสบความสำเร็จได้ไม่ยากเลยค่ะ
สำรวจบ้านตัวเองหรือพื้นที่ก่อนเริ่ม
ก่อนจะลงมือทำธุรกิจโฮมสเตย์ สิ่งแรกที่ควรทำคือสำรวจ “บ้าน” หรือพื้นที่ที่จะใช้เปิดโฮมสเตย์ของเราเองก่อน เพราะถ้ามีบ้านอยู่แล้ว จะช่วยประหยัดต้นทุนได้เยอะ ไม่ต้องไปซื้อหรือเช่าที่เพิ่ม ถ้ายังไม่มีบ้านที่พร้อม ก็ไม่ต้องกังวล เพราะสามารถเริ่มต้นได้จากการเช่าบ้าน หรือซื้อบ้านมือสองที่เหมาะกับการปรับปรุงให้เป็นโฮมสเตย์ได้เช่นกัน
แนะนำข้อควรทำเวลาเช็กบ้านและพื้นที่ :
- ดูสภาพบ้านโดยรวม ว่าต้องซ่อมอะไรบ้าง เช่น ระบบไฟฟ้า น้ำประปา หรือความสะอาด
- เช็กจำนวนห้องและขนาด ว่าตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายไหม เช่น ครอบครัวใหญ่ หรือกลุ่มเพื่อน
- สำรวจทำเล ใกล้ตลาด ร้านอาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยวหรือเปล่า จะช่วยเพิ่มโอกาสลูกค้าเข้ามา
- คิดเรื่องความปลอดภัย เช่น มีรั้วรอบขอบชิด หรือไฟส่องสว่างในตอนกลางคืน
- วางแผนงบประมาณสำหรับการปรับปรุง ให้เหมาะสมกับสภาพบ้านและงบที่มี
ออกแบบบรรยากาศให้น่าพัก
การสร้างบรรยากาศที่ดีเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจโฮมสเตย์ เพราะลูกค้าจะรู้สึกอยากกลับมาอีกถ้ารู้สึกสบายเหมือนอยู่บ้านจริงๆ ลองมาดูวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้บรรยากาศบ้านน่าพักมากขึ้นกันค่ะ
-
ทำความสะอาดให้สะอาดหมดจด
บ้านสะอาดจะทำให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจตั้งแต่ก้าวแรก และช่วยให้บรรยากาศดูน่าอยู่ขึ้นมาก
-
ตกแต่งแบบอบอุ่นและเป็นกันเอง
เลือกใช้ของตกแต่งที่ดูเรียบง่าย แต่ให้ความรู้สึกอบอุ่น เช่น ผ้าม่านสีอ่อน โคมไฟสลัวๆ หรือหมอนอิงที่นุ่มสบาย
-
จัดพื้นที่ให้นั่งพักผ่อนสบายๆ
ไม่ว่าจะเป็นมุมโซฟา หรือระเบียงเล็กๆ ให้ลูกค้าได้ผ่อนคลายและรู้สึกเหมือนอยู่บ้านจริงๆ
-
ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ
อย่างเช่น แจกันดอกไม้เล็กๆ หรือหนังสือเล่มโปรดวางไว้ในห้อง เพื่อเพิ่มความอบอุ่นและความน่ารักให้บ้าน
-
ดูแลเรื่องกลิ่นในบ้าน
กลิ่นหอมอ่อนๆ จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ควรหลีกเลี่ยงกลิ่นแรงเกินไป
การออกแบบบรรยากาศให้น่าพักแบบนี้ จะช่วยให้ลูกค้าประทับใจและอยากแนะนำต่อ รวมถึงกลับมาใช้บริการซ้ำอีกในอนาคตค่ะ
ขออนุญาตให้ถูกต้อง
ก่อนจะเปิดบ้านต้อนรับแขก เราต้องมั่นใจว่าธุรกิจของเราถูกกฎหมาย และเป็นที่ยอมรับของชุมชนด้วยนะคะ การขออนุญาตไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่เป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้คุณทำธุรกิจได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยในระยะยาว มาดูกันว่าต้องทำอะไรบ้าง
-
แจ้งหน่วยงานท้องถิ่นก่อนเริ่มดำเนินกิจการ
- ติดต่อที่ อบต. หรือเทศบาล ในพื้นที่ที่บ้านตั้งอยู่
- แจ้งความประสงค์ว่าจะเปิดให้บริการโฮมสเตย์ และสอบถามเอกสารที่ต้องใช้
-
เตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง
- บัตรประชาชน/ทะเบียนบ้านเจ้าของบ้าน
- โฉนดบ้านหรือสัญญาเช่า
- แผนผังบ้าน รูปถ่ายที่พัก
- บางแห่งอาจขอใบรับรองจากชุมชนด้วย เช่น หนังสือรับรองจากผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน
-
ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย
- เช่น ต้องมีถังดับเพลิง, ไฟทางเดินชัดเจน, ทางหนีไฟ
- หากบ้านมีหลายห้องพัก อาจต้องยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมแบบพิเศษ (มาตรา 15)
-
ขอใบรับรองโฮมสเตย์ (ถ้าต้องการ)
- ถ้าจะยื่นขอรับรองเป็นโฮมสเตย์มาตรฐานจากกรมการท่องเที่ยว จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจประเมินเพิ่มเติม
- ข้อดีคือ จะได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี และสามารถใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานในการโปรโมตได้
กำหนดราคาและบริการเสริม
จะเปิดบ้านให้คนเข้ามาพัก ทั้งทีต้องวางแผนให้ดีเรื่อง “ราคา” และ “บริการที่ลูกค้าจะได้รับ” เพราะนี่คือจุดตัดสินใจสำคัญที่ทำให้ลูกค้าคลิกจองหรือเลื่อนผ่านไปเลยก็ได้
-
ตั้งราคาสมเหตุสมผล
- พิจารณาจาก ทำเลที่ตั้ง เช่น ใกล้น้ำตกหรือแหล่งท่องเที่ยว ราคาก็สามารถสูงขึ้นได้
- ดูจาก ความสะดวกในบ้าน เช่น มีแอร์ ทีวี Wi-Fi หรือครัวพร้อมใช้งาน
- อย่าลืมดูว่า รับลูกค้าได้กี่คน ถ้ารองรับได้หลายคนก็อาจตั้งราคาเป็นแบบเหมาหลัง หรือเพิ่มราคาต่อหัวได้
-
เพิ่มบริการเล็ก ๆ ที่สร้างความประทับใจ
บริการพิเศษเหล่านี้อาจดูเล็กน้อย แต่ช่วยให้ลูกค้ารู้สึกว่าคุ้มเกินราคาแน่นอน:
- มีอาหารเช้า เช่น ข้าวต้ม กาแฟ หรือปาท่องโก๋ง่าย ๆ
- เตาปิ้งย่างพร้อมอุปกรณ์ ลูกค้าหลายคนชอบมาปาร์ตี้กับเพื่อนหรือครอบครัว
- แนะนำที่เที่ยวในพื้นที่ ทำแผนที่เล็ก ๆ หรือมีเบอร์รถเช่า-ไกด์ท้องถิ่นให้ก็ประทับใจ
- บริการเช็คอิน-เช็คเอาท์ยืดหยุ่น (ถ้าไม่มีลูกค้าต่อทันที)
โปรโมตให้โดนใจลูกค้า
ทำบ้านให้พร้อมแล้ว อย่าลืม “ทำให้คนเห็น” ด้วยนะคะ! การโปรโมตคืออีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่จะทำให้โฮมสเตย์ของคุณ “มีแขกเข้าพัก” ไม่เว้นวัน ยิ่งสื่อสารดี ยิ่งมีคนสนใจจอง
-
ใช้ช่องทางออนไลน์ให้เป็น
- เริ่มจาก Facebook ส่วนตัวหรือสร้างเพจของโฮมสเตย์
- เข้าร่วมกลุ่ม Facebook เช่น “เที่ยวนครนายก” หรือ “โฮมสเตย์ทั่วไทย” เพื่อกระจายโพสต์
- ลงประกาศในแพลตฟอร์มใหญ่ เช่น Airbnb, Agoda, Booking.com ยิ่งมือใหม่ยิ่งควรใช้เลยค่ะ เพราะระบบเค้าโปรโมตให้เราด้วย
-
รูปภาพคือด่านแรกของความประทับใจ
- ถ่ายภาพให้สวย สว่าง เป็นธรรมชาติ และโชว์จุดเด่นของบ้านให้ครบ เช่น มุมห้องนอน สระน้ำ มุมปิ้งย่าง
- ถ้าไม่มั่นใจ ลองจ้างช่างภาพถ่ายครั้งเดียว ใช้ได้ยาวเลยค่ะ
-
เขียนคำบรรยายให้น่าเข้าพัก
- ใช้ภาษาชวนเที่ยว เช่น “พักผ่อนกลางธรรมชาติ” หรือ “พูลวิลล่าชิค ๆ สำหรับกลุ่มเพื่อน”
- ใส่ข้อมูลให้ครบ เช่น จำนวนคนพักได้, สิ่งอำนวยความสะดวก, เช็คอินกี่โมง ฯลฯ
-
รีวิวดี = ความน่าเชื่อถือที่ลูกค้าเห็นก่อนจอง
- ขอรีวิวจากลูกค้าเก่า พร้อมรูปภาพจริง ถ้าได้รีวิวแบบมีคอมเมนต์จริงใจ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้คนอื่น
- อย่าลืมขอบคุณทุกรีวิว ตอบกลับอย่างใส่ใจ ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีมากค่ะ
ใส่ใจการบริการ = ลูกค้าบอกต่อ
บ้านอาจสวย บรรยากาศอาจดี แต่สิ่งที่ทำให้ลูกค้ากลับมาซ้ำ หรือบอกต่อเพื่อน ๆ ก็คือ “ความประทับใจจากการบริการ” นี่แหละค่ะ การดูแลลูกค้าให้เหมือนเพื่อนหรือคนในครอบครัว คือหัวใจสำคัญของธุรกิจโฮมสเตย์เลยนะคะ
-
เริ่มจากการ “ทักทายและพูดจาดี”
- เมื่อมีคนทักจอง อย่าตอบแบบห้วน ๆ หรือแค่ส่งราคาอย่างเดียว
- ลองใส่ข้อความน่ารัก ๆ เช่น “ยินดีต้อนรับนะคะ บ้านของเรายินดีให้บริการ”
- น้ำเสียงผ่านตัวอักษรก็สัมผัสได้นะคะ ถ้าอบอุ่น เป็นกันเอง ลูกค้าก็จะรู้สึกดีตั้งแต่ยังไม่เข้าพักเลยค่ะ
-
ตอบแชทไว ไม่ปล่อยให้รอนาน
- ยิ่งยุคนี้ ทุกอย่างเร็ว ลูกค้าอยากจองก็อยากได้คำตอบเร็ว
- ถ้ายังไม่สะดวกตอบเต็มที่ แค่พิมพ์ “ขอเวลาสักครู่ เดี๋ยวแจ้งรายละเอียดให้นะคะ” ก็ยังดีกว่าหายเงียบค่ะ
-
ช่วยเหลือแม้ไม่ใช่หน้าที่โดยตรง ก็ได้ใจไปเต็ม ๆ
- ลูกค้าถามว่ามีร้านอาหารอร่อยแถวนี้ไหม? หรือเที่ยวไหนดี? ช่วยแนะนำสักนิด ลูกค้าจะรู้สึกว่าเราใส่ใจจริง
- บางครั้งแค่เตรียมแผนที่ หรือแนะนำคาเฟ่น่ารักใกล้บ้าน ก็กลายเป็นความประทับใจไม่รู้ลืม
-
ใส่ใจระหว่างเข้าพัก
- ถ้าเห็นลูกค้ามีเด็กเล็ก อาจมีของเล่นหรือหนังสือให้
- ถ้ามาเป็นกลุ่ม อาจแถมเตาปิ้งย่าง หรือแนะนำจุดชมวิวตอนเช้า
- การสื่อสารในช่วงลูกค้าเข้าพัก เช่น ถามไถ่เล็กน้อยว่า “พักโอเคไหมคะ” ก็สร้างความรู้สึกอบอุ่นได้มากเลยค่ะ
สรุป
ธุรกิจโฮมสเตย์ในนครนายกไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย แค่เริ่มจากการวางแผนให้ดี ปรับปรุงบ้านให้พร้อม และรู้จักใช้ช่องทางออนไลน์ให้เกิดประโยชน์ ที่สำคัญคือ “ใส่ใจเรื่องประสบการณ์ของลูกค้า” ให้เหมือนเราเป็นเจ้าบ้านที่อยากให้แขกมีความสุข อย่าลืมว่า การเริ่มต้นอาจไม่ต้องเพอร์เฟกต์ แต่ขอแค่ “เริ่ม” แล้วค่อย ๆ พัฒนาไปเรื่อย ๆ โอกาสดี ๆ และรายได้ที่มั่นคงก็อยู่ไม่ไกลแน่นอนค่ะ